Recap: Discover Patani

บทความนี้เป็นการแบ่งปันมุมมองและบอกเล่าประสบการณ์ เรื่องราวความประทับใจของเยาวชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ Discover Patani ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ (PRC) ที่ได้นำเยาวชนจากทั่วประเทศและเยาวชนจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ความขัดแย้งและสันติภาพ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม

สวัสดีครับ ผมนายนภพล จิตกรนานา นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อยากมาเล่าความทรงจำที่มิอาจลืมเลือนจากการได้เข้าร่วมโครงการ Discover Patani โดยมูลนิธิความร่วมมือสันติภาพหรือ PRC เริ่มกันวันแรกเลย (18 สิงหาคม 2565) การเดินทางจากกรุงเทพไปยังจังหวัดปัตตานี โดยเครื่องบินไทย ไลอ้อนแอร์เที่ยวบินที่ SL714 ดอนเมือง – หาดใหญ่ ความรู้สึกในวันนั้นตื่นเต้นมากกับการเดินทางไปเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดที่หลาย ๆ คนบอกว่ามีแต่ระเบิด เมื่อเดินทางไปถึงสนามบินหาดใหญ่ ได้รับการต้อนรับจากพี่ ๆ เป็นอย่างดี พานั่งรถตู้ต่อไปยังจังหวัดปัตตานี บรรยากาศขณะนั้นยังไม่ค่อยรู้จักใคร ไม่ค่อยกล้าทักใครเลยแต่ในใจอยากทำความรู้จักมาก พอไปถึงโรงแรมซีเอสปัตตานีก็ตื่นเต้นว่าจะได้นอนกับใคร ทันใดนั้นพี่บอยก็ประกาศตามหาผม หลังจากนั้นก็ขึ้นห้องไปเก็บของ ไปทำภารกิจส่วนตัว พูดคุยทำความรู้จักกับพี่บอยที่เป็นรูมเมท พี่บอยน่ารัก ชวนพูดคุยสนุกสนาน ในตอนเย็นของวันนั้นพี่ ๆ ก็ได้พาไปเที่ยวตลาดหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พ่อค้าแม่ขายที่นี่น่ารักมาก เป็นกันเอง ในส่วนของเราก็ตื่นเต้นอยากลองชิมอาหารชาวปักษ์ใต้ อาหารมุสลิม ตามหาร้านขายข้าวยำ บูดู กันวุ่นเลยและแล้วก็เจอ เพื่อน ๆ พี่ ๆ เริ่มชักชวนพูดคุยกันสนุกสนานมาก ๆ เพียงแค่วันแรกก็เหมือนเราสนิทกันมาก่อน ไปซื้อน้ำปั่นก็ได้ชวนแม่ค้าพูดคุยเกี่ยวกับภาษามลายู เขาพูดเป็นกันเองมาก เมื่อรับประทานอาหารเย็นเสร็จเรียบร้อยก็ได้เดินทางกลับมายังโรงแรม นั่งพูดคุยกันต่อไม่หลับไม่นอนกันเลยทีเดียว พร้อมสั่งโรตีเหนียวนุ่มมานั่งทานกันอีก

วันที่สอง (19 สิงหาคม 2565) เป็นวันที่เริ่มกิจกรรมอย่างจริงจัง เริ่มต้นด้วยการต้อนรับจากพี่ ๆ PRC กล่าวทักทาย แนะนำตัว ชี้แจงวัตถุประสงค์ ที่มาที่ไปของมูลนิธิฯ บรรยากาศในห้องประชุมเป็นที่น่าประทับใจมาก มีการจัดเก้าอี้เป็นลักษณะครึ่งวงกลมทุกคนสามารถมองเห็นกันได้หมด และมีผู้บรรยายอยู่ตรงกลางเป็นการจัดห้องประชุมที่ช่วยดึงดูดความน่าสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นเราก็มาเริ่มทำความรู้จักกันอย่างจริงจังมีกิจกรรมที่ชื่อว่า Ice Breaking ที่ทำให้เรารู้จักเพื่อน ๆ มากขึ้น ต่อมาเป็นการบรรยายประวัติศาสตร์ความเป็นมาของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลของความรุนแรง ซึ่งก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าตัวเองไม่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เลย คิดได้เพียงอย่างเดียวคือมีแต่ระเบิด เพราะเราเป็นคนภาคเหนือเลยไม่มีโอกาสได้มาสัมผัส ได้เพียงติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจมากเท่าไรนัก แต่เมื่อได้มาฟังวิทยากร คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี บรรยายให้ฟัง ทำให้รู้สึกว่าเมืองนี้มีมนต์ขลัง น่าศึกษา น่าเรียนรู้ต่อ และที่สำคัญทำให้ผมเองทราบถึงเมืองปาตานี เมืองที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนักและไม่กล่าวถึงในหนังสือประวัติศาสตร์แบบเรียนของนักเรียนไทย นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์เลยก็ว่าได้ สิ่งที่อาจารย์มาบรรยายคือเยอะมาก ๆ เป็นการบรรยายที่ทำให้ตื่นตัวตลอดเวลา เนื่องด้วยเนื้อหาเป็นสิ่งแปลกใหม่เราไม่เคยพบเจอหรือเคยศึกษามาก่อน อาจารย์ได้ทำให้เรารู้จักกับคำ 3 คำ คือ “มาลายู ปาตานี อิสลาม” + อำนาจทางการเมือง ทำให้เห็นปมของความขัดแย้ง ปัญหาในเรื่องอำนาจและโครงสร้างอำนาจซึ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน เพราะแกนกลางของปัญหาเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐสยามกับรัฐปาตานีซึ่งบางครั้งมีความคลุมเครือแต่ยืดหยุ่นและบางครั้งชัดเจนแต่แข็งกระด้างนำมาสู่การปรับตัว พัฒนาการจนเกิดการต่อสู้ ต่อต้านจากชนชั้นนำ และประชาชนปาตานี นอกจากนี้ยังทำให้โครงสร้างอำนาจภายในมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย นี้คือต้นเหตุของความขัดแย้ง ความสัมพันธ์ของรัฐสยามกับรัฐปาตานี มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการบ้านเมืองเรื่อยมาจนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ได้แก่ โครงสร้างอำนาจผู้นำ ระบบกฎหมาย ระบบการศึกษา เกือบทั้งหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องให้ความสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ซึ่งในรัฐปาตานีมีโรงเรียนปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามอยู่แล้วการที่รัฐสยามหรือรัฐไทยเข้าไปควบคุมเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องมากนัก

มีการบังคับให้ใช้หลักสูตรตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ บังคับให้โรงเรียนปอเนาะสอนภาษาไทย และให้มีการศึกษาสามัญรวมเข้าไปด้วยทำให้หลักสูตรศาสนาต้องลดลง จุดมุ่งหมายของการปฏิรูปคือสร้างความเป็นไทย ซึ่งไปกระทบอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิมอย่างรุนแรง

ช่วงกิจกรรมต่อมาเป็นการบรรยายเรื่องกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยวิทยากร ฮารา ชินทาโร่ ได้กล่าวว่า กระบวนการสันติภาพ มี 2 ประเภท คือ กระบวนการสันติภาพเชิงลบ และกระบวนการสันติภาพเชิงบวก โดยกระบวนการสันติภาพเชิงลบเป็นกระบวนการที่สาเหตุของความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่มีที่ว่างให้แสดงความคิดเห็น ไม่มีโอกาสในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งความอยุติธรรม ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต และในส่วนของกระบวนการสันติภาพเชิงบวกคือกระบวนการที่สามารถแก้ที่ต้นเหตุได้ มีความพยายามที่จะหาทางแก้ไขและยอมรับร่วมกันได้ วางประเด็นความขัดแย้งภายใต้การจัดการทางออกที่ไม่รุนแรง มีพื้นที่ให้สามารถพูดคุยกันได้ กระบวนการสันติภาพอาจจะต้องใช้เวลา 10 ปี 20 ปี หรือ 100 ปี ต้องมีเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่เข้มแข็ง และต้องได้รับการสนับสนุนจากสังคมทั่วไป สิ่งสำคัญคือสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยมี 3 ประเด็นสารัตถะ ดังนี้ 1.การลดใช้ความรุนแรง 2.ศึกษาประเด็นในพื้นที่ 3.การโอบล้อมของรัฐบาล

สำหรับในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมการอยุ่ร่วมกันในพื้นที่พหุวัฒนธรรม โดยวิทยากรอาจารย์ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์ ตอนแรกผมคิดว่าจะเป็นกิจกรรมที่มาพูดถึงในเรื่องของการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ อาจารย์ท่านมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่างมาก ทำให้เราได้เคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจับกลุ่มภูมิภาค จับกลุ่มมหาวิทยาลัย หรือจับกลุ่มวันเกิด เป็นกระ บวนการที่ทำให้เรามีส่วนร่วมตลอดเวลา ซึ่งกิจกรรมที่ประทับใจที่สุดคือ “ใครควรได้รับยา?”เป็นกิจกรรมที่เราต้องสวมบทบาทของตนเองเป็นคนให้ยาในสถานการณ์ที่ยามีเพียงชุดเดียว โดยมีอาการของผู้ป่วยแต่ละคนให้แล้ว และให้เราช่วยกันปรึกษาเพื่อน ๆ ในกลุ่มว่าเราควรที่จะให้ยาใครดี แต่ละคนมีความคิดเห็นและเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป กิจกรรมนี้สะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นคนอย่างไร และในตอนท้ายมีการเปลี่ยนผู้ป่วยเป็นคนที่คุณรักเป็นสถานการณ์ที่ทำให้เราเองไม่รู้จะให้ยากับใครเลย ผู้ป่วยก็ต่างมีอาการหนัก มีภาระที่ต้องรับผิดชอบกันเกือบทุกคน ผนวกกับคนที่เรารักก็ยังมาป่วยด้วย เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด ใช้จิตใจ ใช้ความเชี่ยวชาญ ความฉลาดในการ วิเคราะห์ในทุก ๆ บริบท ทำให้เราเห็นว่าการทุจริตเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหาในสังคม นอกจากนี้ก็มีการทำกิจกรรมที่ให้เราช่วยตอบคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ซึ่งบางครั้งเราเองก็ไม่รู้จะเลือกอยู่ฝั่งไหนดี เลยทำให้ตอบไม่แน่ใจเกือบทั้งหมด กิจกรรมนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเราควรมีจุดยืนของตนเองไม่ว่าจะผิดจะถูกควรมั่นใจในคำตอบของตนเอง เป็นกิจกรรมที่บูรณาการได้อย่างหลากหลายได้รับทั้งความรู้ ทักษะ ประสบการณ์อย่างมาก เป็นทักษะวัฒนธรรมที่เราต้องเรียนรู้ไว้และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ในช่วงค่ำได้มีกิจกรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเยาวชนในพื้นที่ซึ่งกิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ปัญหาบ้านเมืองต่าง ๆ เป็นต้น

วันที่สาม (20 สิงหาคม 2565) วันนี้เป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ เพราะเป็นการทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส เราเริ่มกันที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งมีความหมายว่าทรายสีขาวใสดั่งไข่มุก ที่ถูกสร้างด้วยอิฐแดง มีลักษณะโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมเป็นการผสมผสานศิลปะอาหรับ มีรูปทรงประตูซุ้มโค้งแหลมเสาทรงกลม โดยมัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ ซาห์ เป็นเจ้าเมืองปัตตานี จากการได้เข้าไปศึกษาสถานที่แห่งนี้ทำให้ทราบว่ามัสยิดนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเลย และไม่ได้เป็นมัสยิดต้องคำสาปเหมือนที่ในโลกอินเตอร์เน็ตหรือสื่อต่าง ๆ ในสังคมได้พูดถึงไว้ว่ามัสยิดแห่งนี้จะสร้างไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่มีการยิงในมัสยิดแห่งนี้แล้วมีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ทำให้มัสยิดแห่งนี้เป็นมัสยิดแห่งประวัติศาสตร์ที่หลายคนจดจำได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นเราได้เดินทางไปยังสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่เป็นตำนานและความเชื่อของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นเป็นชาวจีนที่มาตามหาพี่ชายของตนเพื่อกลับไปดูแลบุพการีที่ป่วยอยู่และได้สัญญาว่าถ้าหากไม่ได้เจอพี่ชายก็จะไม่กลับไป แต่แล้วนางก็ผูกคอตายในท้ายที่สุด ในปัจจุบันนี้สถานที่แห่งนี้เป็นที่สักการะของคนไทยเชื้อสายจีนที่ต่างหลั่งไหลมาสักการะกันมากมาย ซึ่งสถานที่นี้ทำให้ได้รู้ว่าบริเวณของแหลมมลายูนี้ไม่ได้มีแต่ชาวมุสลิมแต่มีชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย

ต่อมาเราก็ได้เดินทางไปยังเมืองโบราณยะรัง สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์นับว่าเป็นสถานที่ที่แปลกตาสำหรับผมเป็นอย่างมากเพราะเป็นเมืองโบราณที่ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย หลังจากที่ได้เข้าไปเรียนรู้ก็พบว่าภาคใต้ของประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าและการเดินทางที่เชื่อมระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เและได้พบหลักฐานทางโบราณคดีมากมาย เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนา โดยพบทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุของศาสนาพุทธมหายานจำนวนมาก ซึ่งได้แบ่งกลุ่มเมืองออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1.กลุ่มโบราณสถานบ้านวัด ความสำคัญสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางศาสนาแห่งแรกของเมืองโบราณยะรัง หลักฐานที่พบส่วนใหญ่สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา มีการกำหนดเขตด้วยคูน้ำและผังเมืองซึ่งมีความซับซ้อน 2.กลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ 3.กลุ่มโบราณสถานบ้านประแว จากการศึกษาโบราณสถานเมืองยะรังนี้ทำให้ทราบว่าก่อนที่ศาสนาอิสลามจะเข้ามาในดินแดนแหลมมลายูมีศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธศาสนา เข้ามาก่อนจึงทำให้มีโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายปราสาทหลงเหลืออยู่

สถานที่ต่อไปคือมัสยิดตะโละมาเนาะหรือมัสยิด 300 ปี แต่ทางวิทยากรบรรยายบอกว่าที่จริงจะถึง 400 ปีแล้ว ซึ่งสถานที่แห่งนี้ชวนให้น่าหลงใหลเช่นเดียวกันเพราะว่าเมื่อได้ก้าวขาลงจากรถไปนั้นได้พบเห็นผู้คนในชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่และบ้านเรือนต่าง ๆ ของคนในชุมชนนั้นเป็นภาพที่ประทับใจมากที่สุด สิ่งสำคัญไปกว่านั้นได้มีโอกาสไปในช่วงเวลาที่เขากำลังจะทำการละหมาด (การปฏิบัติศาสนกิจของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม) ด้วยทำให้เราได้มองเห็นภาพพิธีกรรมสำคัญที่ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติ โดยเริ่มจากการอาบน้ำละมาดเพื่อชำระร่างกายให้สะอาดและการละหมาด รวมถึงได้รู้ว่าเขามีการแบ่งเขตชาย-หญิงในการละหมาดอย่างชัดเจน โดยจะมีผ้าม่านกั้นระหว่างเขตของผู้ชายและเขตของผู้หญิง นอกจากนี้มัสยิดแห่งนี้มีความสวยมากมีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอายุนับ 300 กว่าปี ความสวยที่ต้องตาที่หาดูได้ยากก็คือลวดลายของไม้ฉลุที่ประดับอยู่ตามประตูหน้าต่าง ทำให้เห็นถึงความสามารถของคนในยุคนั้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

หลังจากนั้นเราก็มาเรียนรู้เรื่องของเหตุการณ์สำคัญแห่งความสูญเสียนั่นก็คือเหตุการณ์ตากใบซึ่งวิทยากรผู้บรรยายได้พาไปดูหลุมฝังศพหรือชาวมุสลิมเรียกว่ากุโบร์ของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบที่ไม่มีญาติมารับ นับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ชาวพุทธอย่างผมไม่เคยได้เห็นมาก่อน วิทยากรได้อธิบายถึงขั้นตอนพิธีกรรมการฝังศพอย่างละเอียดและเปิดโอกาสให้เราได้ซักถาม ซึ่งมีสิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชาวมุสลิมเรียกผู้ที่ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ว่าผู้กล้า แต่ในทางกลับกันสื่อต่างๆกลับเรียกพวกเขาว่าโจรใต้ สถานที่ต่อมาคือพิพิธภัณฑ์เอกสารโบราณหรือพิพิธภัณฑ์อัลกุรอาน เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์เข้ามาต้อนรับเราเป็นอย่างดี มีความน่ารักมาก เสียงไพเราะ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ดูเป็นกันเองมาก ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดแสดงแบบเรียบง่ายในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยมีการรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่คัดด้วยลายมือเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลามที่ตกทอดมาจากอดีต คัมภีร์อัลกุรอานที่เก็บรักษาไว้ที่นี่นั้นมีมาจากทั่วโลก จึงทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปรียบเสมือนแผนที่ทางวัฒนธรรมที่พาเราย้อนเวลาไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ในโลกมุสลิม สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นและยังมีข้อสงสัยว่าเขามีการเก็บรักษาอย่างไรให้คัมภีร์อัลกุรอานสามารถอยู่ได้เป็นพันปี ทางเจ้าหน้าที่จึงได้พาไปดูการซ่อมแซมคัมภีร์หรือเอกสารโบราณด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรเข้ามาช่วยในการดูแลและให้คำแนะนำในการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งมีการสาธิตให้ดูด้วยว่าเขาใช้วิธีการอะไรและมีขั้นตอนการทำอย่างไรไม่ให้ตัวอักษรหายไป ซึ่งนับว่าเป็นความรู้ใหม่เลยทีเดียว ต่อมาสถานที่สุดท้ายคือวัดหน้าถ้ำหรือวัดคูหาภิมุข เป็นวัดที่มีความสวยงามมากแต่ด้วยช่วงระยะเวลาที่เดินทางไปถึงเป็นเวลาที่ประตูวัดปิดแล้วจึงไม่สามารถเข้าไปดูบรรยากาศภายในวัดได้ ทางวิทยากรจึงได้พาเราเดินชมบริเวณรอบ ๆ วัดแทนพร้อมบรรยายความเป็นมาเกี่ยวกับวัด หลังจากนั้นก็ได้ขึ้นรถกลับและรับประทานอาหารที่ร้านน้ำชา ครั้งแรกผมคิดว่าเป็นร้านน้ำชาธรรมดาให้คนมานั่งจิบชาพูดคุยกัน

วันที่สี่(21 สิงหาคม 2565) วันนี้ตื่นเช้ามากเพราะพี่ๆ จะพาไปมัสยิดกลางปัตตานี มัสยิดแห่งนี้ใหญ่มากดูสวยและมีมนต์ขลังเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็เดินทางไปยัง Patani Artspace ซึ่งสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่แสดงผลงานศิลปะที่สวยงดงามมาก โดยอาจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ เป็นการจุดประกายความหวังของศิลปินในพื้นที่ให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานทางศิลปะและมีพื้นที่ให้จัดแสดงผลงานของตนเอง นอกจากนี้แล้วผมยังได้เข้ารับฟังการพูดคุยประสบการณ์และการดำเนินงานของภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ทำให้ทราบถึงการลิดรอนสิทธิของหน่วยงานภาครัฐที่มีต่อประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยตัวกฎหมายที่เยอะแยะมากมายในการดำเนินชีวิต

และสุดท้ายทางโครงการฯ ก็ได้เปิดเวทีสรุปกิจกรรมทั้งหมดและให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา สำหรับผมนั้นการได้มาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก อยากให้คนอื่น ๆ ที่ไม่รู้จัก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจจะได้รู้ว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ท้ายนี้ผมต้องขอบพระคุณมูลนิธิความร่วมมือสันติภาพที่ให้โอกาสได้มาเข้าร่วมในครั้งนี้

แบ่งปันมุมมองโดย
นภพล จิตกรนานา

 633 ครั้ง

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ