2. เป็นปัญหาทางการเมือง
จากการสืบรากกลับไปในมิติประวัติศาสตร์ข้างต้น จะเห็นได้ว่ารากเหง้านี้เป็นเรื่องของโจทย์ทางการเมืองอันกล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า ขมวดปมเงื่อนอยู่ตรงความสัมพันธ์ทางอำนาจอันไม่เท่าเทียมระหว่างศูนย์กลางอำนาจของรัฐไทยที่กรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่งสถาปนาตัวตั้งมั่นในรูปของรัฐสมัยใหม่เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 กับพื้นที่ปาตานี ซึ่งเคยเป็นศูนย์อำนาจอิสระที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายูในยุคของรัฐจารีต แต่ถูกผนวกรวมเข้าไว้เป็นดินแดนส่วนหนึ่งภายในเส้นอาณาเขตของรัฐไทยในช่วงที่ฝ่ายหลังประกอบสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้น
แนวการตอบโจทย์ทางการเมืองที่ขมวดปมอยู่กับเรื่องดังกล่าว มิได้มีลักษณะเป็นคำตอบใช่หรือไม่ ถูกหรือผิด ขวาหรือซ้าย หากแต่มีลักษณะเป็นคำตอบที่กระจายตัวอยู่เป็นเฉดต่างๆ ระหว่างสองขั้วคำตอบที่ข้างหนึ่งคือ ความเป็นรัฐเดี่ยวแบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐไทย ซึ่งหมายถึง ไม่เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างศูนย์กลางอำนาจกับพื้นที่ปาตานีไปจากเดิมเลย กับขั้วคำตอบที่ข้างหนึ่งคือ การปลดแอกเป็นรัฐอิสระโดยสมบูรณ์ของพื้นที่ปาตานี ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสองพื้นที่ข้างต้นไปแบบถอนรากถอนโคน
ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขที่ “สาเหตุรากเหง้าของโรค” แม้จะมีสัดส่วนให้น้ำหนักไม่เท่า กับความทุ่มเทในการ “ระงับอาการปลายเหตุ” แต่ความพยายามนั้นก็วางอยู่บนฐานของการวินิจฉัยตระหนักถึงพยาธิสภาพของโรคร้ายว่า รากเหง้าของโรคคือปัญหาทางการเมือง มิใช่ปัญหาทางการทหาร
ที่ผ่านมา จึงปรากฏการดำเนินการที่จะคลี่คลายปมเงื่อนทางการเมืองขึ้นมาในสังคมไทยอย่างน้อย 2 รูปแบบหลัก ประการแรกคือ ข้อเสนอเกี่ยวกับการกระจายอำนาจรูปแบบพิเศษไปยังพื้นที่ปาตานี อันจัดได้ว่าเป็นความพยายามที่จะหาเฉดคำตอบระหว่างกลางของสองขั้วตรงกันข้ามบนเส้นความเป็นไปได้ของทางออกทางการเมืองปาตานี รูปแบบการดำเนินการนี้ปรากฏอย่างเด่นชัดเอามาก ในช่วงราวๆ พ.ศ.2554 โดยองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ปาตานี 25 องค์กร รวมตัวกันเป็นเครือข่ายศึกษาพัฒนาตัวแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งปรากฏผลลัพธ์ออกมาเป็น 6 ตัวแบบแนวทางในการกระจายอำนาจแบบพิเศษ ทว่านอกจากตัวแบบที่ 1 อันหมายถึง กลไกพิเศษเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. อันเท่ากับเป็นรูปแบบพิเศษตามเดิมที่มีอยู่แล้ว ข้อเสนอตัวแบบความเป็นไปได้อื่นอีก 5 ตัวแบบ กลับไม่ได้รับการตอบรับจากศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ
พร้อมกันนั้น เมื่อแนวการตอบโจทย์การเมืองแนวนี้มุ่งแสวงหาทางออกที่เป็นไปได้จริง สมดุลระหว่างทางออกสุดโต่งสองขั้ว แนวทางนี้จึงไม่สามารถโอบกอดผนวกรวมตัวแสดงที่เกี่ยวข้องที่ปักหลักอยู่กับความเชื่อสุดทางทั้งสองด้านได้ กล่าวคือ ในฝั่งของผู้ต้องการประกาศอิสรภาพจากรัฐไทย การกระจายอำนาจแบบพิเศษเท่ากับเป็นการประนีประนอมและละทิ้งอุดมการณ์การต่อสู้ โดยหลายคนมองด้วยสายตาระแวงสงสัยต่อการเข้าร่วมแสวงหาทางออกภายใต้แนวคำตอบนี้ว่า อาจถูกหลอกให้ไปคุยโดยรัฐไทยไม่ได้จริงใจจะเดินหน้าคำตอบนี้อย่างจริงจัง ส่วนในฝั่งของนักชาตินิยมไทยและนายทหารสายเหยี่ยว ก็มองว่า ข้อเสนอที่จะกระจายอำนาจแบบพิเศษ อาจเป็นบันไดขั้นหนึ่งที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพเต็มรูปแบบของปาตานีในอนาคต อันจะทำให้รัฐไทยเสียเอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดน
กล่าวอย่างรวบรัด แนวคำตอบที่ว่าด้วยการกระจายอำนาจแบบพิเศษ มีพลังไม่เพียงพอในการดึงดูดคนที่มีคำตอบในใจสุดโต่งทั้งสองทางเข้าร่วมในกระบวนการ และแม้ตามหลักการแล้ว กระบวนการผนวกรวมคนที่เชื่อคนละแบบเข้าไว้จำต้องใช้เวลา แต่ก็น่ากังวลตรงที่เวลาที่เราเสียไปนั้น กระทั่งความหวังอันจะเกิดขึ้นได้จริงของตัวข้อเสนอเอง ก็ถูกบั่นทอนปฏิเสธจากศูนย์กลางอำนาจรัฐไทยตลอดมา อันยิ่งซ้ำลดทอนพลังของแนวคำตอบระหว่างกลางดังกล่าวลงไปกว่าเดิม
การดำเนินการรูปแบบที่สองที่ปรากฏในสังคมไทยอย่างควบคู่ไปกับรูปแบบแรก เพื่อจะตอบโจทย์ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างศูนย์กลางอำนาจที่กรุงเทพฯ กับพื้นที่ปาตานี คือกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
จุดตั้งต้นของกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มติดอาวุธ กล่าวอย่างรวบรัดได้ว่า เกิดขึ้นจากความสำเร็จของรัฐบาลที่ใช้วิธีการเจรจายุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และเป็นตัวกลางให้กับรัฐบาลมาเลเซียกับกลุ่มโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) เจรจายุติการสู้รบกันจนบรรลุข้อตกลงสันติภาพสามฝ่าย ไทย-มาเลเซีย-พรรคคอมมิวนิสต์มลายาได้สำเร็จ อันเรียกว่า ข้อตกลงสันติภาพหาดใหญ่ พ.ศ.2532 จากความสำเร็จตรงนี้ รัฐบาลจึงริเริ่มนำกระบวนการพูดคุยสันติภาพมาใช้เพื่อหาทางยุติการต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธในปาตานี
ระหว่าง พ.ศ.2534-2537 กองทัพภาคที่ 4 โดยพลโทกิตติ รัตนฉายา แม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด ติดต่อพบปะในทางลับกับแกนนำของกลุ่ม PULO และ BRN ที่ไคโร อียิปต์ และดามัสกัส ซีเรีย จนสามารถพัฒนาไปสู่การเจรจาแบบเต็มคณะกับแกนนำกลุ่ม PULO ทั้งฝ่ายกองกำลัง ฝ่ายการเมือง และฝ่ายต่างประเทศ แต่กระบวนการแรกนี้เต็มไปด้วยความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน กล่าวคือ ฝ่ายของกลุ่มติดอาวุธระแวงว่ารัฐบาลมีเป้าหมายพูดคุยเพื่อหาข่าวและสร้างความอ่อนแอให้กับขบวนของการต่อสู้ ส่วนรัฐบาลมองว่า PULO แสวงประโยชน์จากเวทีพูดคุยในการยกสถานะของตนต่อการรับรู้ขององค์การความร่วมมืออิสลามและโลกมุสลิม ส่งผลให้เวทีเจรจาระหว่างสองฝ่ายหยุดลง เหลือเพียงการติดต่อระดับตัวบุคคลผ่านผู้ประสานงานเพื่อรักษาช่องทางสื่อสารกันไว้
พ.ศ.2538 กระบวนการพูดคุยได้ถูกพยายามรื้อฟื้นอีกครั้ง โดยมีตันศรีอับดุลราฮิม มูฮัมหมัด นอร์ ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย และดาโต๊ะโนเรียน มาย ผู้บัญชาการสันติบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ภายใต้กรอบนี้ รัฐบาลไทยกับมาเลเซียได้ร่วมกันตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นเพื่อคัดกรองกลุ่มเป้าหมายออกเป็นกลุ่มแกนนำทางความคิดซึ่งจะใช้วิธีการพูดคุยด้วย กับกลุ่มสมาชิกระดับปฏิบัติซึ่งจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าจัดการ อย่างไรก็ตาม กลุ่มติดอาวุธต่างๆ แจ้งความประสงค์จะพูดคุยเป็นกลุ่ม แต่รัฐบาลไทยต้องการพูดคุยรายคน ความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียในการจัดกระบวนการพูดคุยขึ้นใหม่จึงยุติลง
พ.ศ.2545 กระบวนการพูดคุยได้ฟื้นขึ้นอีกครั้งในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการไทยกับนักวิชาการและปัญญาชนมลายูมุสลิมที่พำนักอยู่มาเลเซียและเป็นแกนนำทางความคิดของกลุ่มติดอาวุธ ภายใต้กลไกคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี (กยส.) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระบวนการพูดคุยในกรอบนี้มีลักษณะเป็นการสานเสวนาทำความเข้าใจ พบปะเพื่อรู้จักความคิดกันมากขึ้น โดยครั้งแรกจัดที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย แต่ครั้งที่สองซึ่งวางแผนจะจัดในไทยถูกระงับ เพราะรัฐบาลเปลี่ยนทรรศนะไม่สนับสนุนกระบวนการ
พ.ศ.2547 ภายหลังเหตุการณ์ความรุนแรงระลอกปัจจุบันก่อตัวขึ้นที่ปาตานี คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เสนอให้รัฐบาลใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางออกต่อปัญหา โดยนายอานันท์ ปันยารชุน ประธาน กอส. ได้ประสานกับองค์การ Perdana Global Peace ของฝั่งมาเลเซียซึ่งมีนายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จัดตั้งกรอบความร่วมมือที่เรียกว่า กระบวนการลังกาวี (Langkawi Process) ขึ้น โดยฝั่งมาเลเซียรับหน้าที่ประสานสมาชิกกลุ่มติดอาวุธมาพูดคุยกับฝั่งไทย จึงได้เกิดการพูดคุยขึ้น 2 ครั้งที่เกาะลังกาวี ระหว่างรัฐบาลไทยกับ BERSATU BRN-Congress GMIP BIPP และ PULO แต่ไม่มีผู้แทนกลุ่ม BRN-Coordinate เข้าร่วม จะมีเพียงสมาชิกระดับล่างจำนวนหนึ่งของกลุ่มดังกล่าวเท่านั้นที่เข้าร่วมในนามส่วนตัว ฝ่ายของกลุ่มติดอาวุธได้จัดทำเอกสารข้อเสนอเรียกว่า “Roadmap to Peace in Southern Thailand” โดยมีสารัตถะคือ การยอมรับเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐไทย แต่เรียกร้องพื้นที่อิสระในระดับหนึ่งสำหรับคนมลายูในการกำหนดชะตาทางการเมืองและเศรษฐกิจของตน แต่รัฐบาลไทยไม่ตอบรับ อันมีผลสำคัญมาจากปัจจัยการเมืองระดับชาติของทั้งไทยและมาเลเซีย ในส่วนไทย รัฐบาลทักษิณขณะนั้น พัวพันอยู่กับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ทำให้เรื่องการแก้ปัญหาความรุนแรงที่ปาตานีกลายเป็นเรื่องรอง ส่วนในทางมาเลเซีย รัฐบาลอับดุลเลาะห์ บาดาวี ไม่สนับสนุนให้องค์กรนอกภาครัฐของมหาธีร์เป็นผู้อำนวยการกระบวนการ แต่ต้องการให้แทนที่ด้วยหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ ทำให้กระบวนการลังกาวียุติลงในที่สุด
พ.ศ.2548 การพูดคุยภายใต้อีกกรอบกระบวนการหนึ่งได้ถูกผลักดันขึ้นในช่วงเวลาเหลื่อมกับข้างต้น โดยมีองค์กรนอกภาครัฐ คือ the Centre for Humanitarian Dialogue หรือ HD ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เจนีวา และได้รับสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์รวมทั้งบางประเทศในยุโรป เป็นตัวเชื่อม การประสานการติดต่อ 2 ครั้งแรกเกิดขึ้นที่เจนีวา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่านหนึ่งที่เคยเป็นทหารระดับสูงในหน่วยงานด้านข่าวกรองของทหารเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไทย เข้าร่วมวงพูดคุยกับตัวแทนกลุ่ม GMIP BRN-Congress และ PULO แต่นายกฯ ทักษิณมีคำสั่งยุติการพูดคุยโดยไม่ได้ข้อสรุปใด ต่อมา ใน พ.ศ.2549 HD ประสานกับ ดร.มารค ตามไท กรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี (กยส.) เพื่อฟื้นการพูดคุยขึ้นใหม่ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเห็นชอบและมอบให้ กยส. เป็นกลไกทำหน้าที่ดังกล่าวในทางลับ โดยมี HD เป็นผู้อำนวยความสะดวก เรียกว่า กระบวนการเจนีวา (Geneva Process) ภายใต้กระบวนการนี้ตัวแทนเข้าร่วมจาก PULO ทั้งที่อยู่ในมาเลเซีย สวีเดน และซีเรีย พร้อมกับผู้นำระดับอาวุโสจากกลุ่ม BIPP และต่อมาตัวแทน PULO ได้ดึงตัวแทน BRN-Coordinate (BRN-C) เข้าร่วมด้วยในสัดส่วนเท่ากับจำนวนตัวแทนของตน โดยสองครั้งแรกนั้นตัวแทน BRN-C เข้าร่วมพูดคุยผ่านเครื่องมือสื่อสาร เพราะกังวลความปลอดภัย แต่ต่อมาเมื่อเชื่อมั่นในกระบวนการมากขึ้น หัวหน้าตัวแทนของ BRN-C จึงได้พบพูดคุยกับหัวหน้าคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยอย่างเป็นส่วนตัวที่เมืองเมดาน อินโดนีเซีย อันนำไปสู่การเข้าร่วมเวทีพูดคุยแบบเต็มคณะในการพูดคุยครั้งถัดมา
ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ.2549 รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์แต่งตั้งคณะกรรมการพูดคุยสันติภาพขึ้นเป็นกลไกระดับสูงในรูปแบบคณะกรรมการอำนวยการ (Steering Committee) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รับผิดชอบกระบวนการพูดคุยเป็นการเฉพาะ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเป็นรัฐบาลสมัคร จึงได้มีการเปลี่ยนนโยบายมีคำสั่งยุบคณะกรรมการพูดคุยสันติภาพของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ อันถือเป็นจุดยุติลงของการพูดคุยสันติภาพภายใต้กระบวนการเจนีวา อีกทั้งความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติในช่วงนั้น ส่งผลให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพและวาระการแก้ปัญหาปาตานีชะงักงันลงไปราว 1 ปี
พ.ศ.2552 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้สานต่อกระบวนการเจนีวาขึ้นอีกครั้ง โดยออกคำสั่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2552 แต่งตั้งคณะกรรมการพูดคุยเพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี ดร.มารค ตามไท เป็นประธาน
747 ครั้ง