อย่างไรก็ดี กระบวนการกัวลาลัมเปอร์รอบใหม่ หรือที่เรียกว่า Dialogue II ก็ได้ส่งผลให้เกิดพัฒนาการสำคัญให้กับกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างน้อยใน 2 ด้านหลัก ด้านแรกคือ พัฒนาการด้านโครงสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างคู่พูดคุย โดยได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานทางเทคนิคร่วม (Joint Working Group; JWG) ใน พ.ศ.2559 มีบทบาทสำคัญในการยกร่างกติกาการพูดคุยระหว่างกัน (Terms of Reference; TOR) ซึ่งคู่พูดคุยบรรลุข้อตกลงเรื่องนี้ได้ใน พ.ศ.2560 พัฒนาการสำคัญอีกด้าน คือ ความตื่นตัวและระดับที่เข้มข้นขึ้นของภาคประชาสังคมในการแสดงบทบาทมีส่วนร่วมส่งอิทธิพลต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ กล่าวคือ การประชุมระหว่างคู่พูดคุยในวันที่ 8 เมษายน และ 25 สิงหาคม พ.ศ.2558 นำมาซึ่งการที่สองฝ่ายร่วมกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) ที่สองฝ่ายจะงดปฏิบัติการทางทหารเพื่อเปิดทางให้กับการพัฒนาและการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่กำหนดนั้น แม้ผลลัพธ์ของการทดสอบการทำงานร่วมกันดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงถึงสัมฤทธิ์ผลในเชิงการลดจำนวนการเกิดเหตุรุนแรง แต่พัฒนาการอันโดดเด่นปรากฏในฝั่งของภาคประชาสังคมในพื้นที่โดยชัดเจน โดยกลุ่มสตรีภาคประชาสังคม 23 องค์กรรวมตัวในนามคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (Peace Agenda of Women; PAOW) เสนอหลักการและแนวปฏิบัติในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยเข้าไปสู่การพูดคุยบนโต๊ะการพูดคุยสันติภาพด้วย อันสะท้อนให้เห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของภาคประชาสังคมและตัวแสดงในพื้นที่ที่มีต่อการส่งอิทธิพลกดดันไปยังคู่พูดคุย
นอกจากนี้ การสื่อสารขององค์กรร่มมาราปาตานีต่อสังคมสาธารณะภายใต้กระบวนการ Dialogue II นี้มีจำนวนบ่อยครั้งกว่าการสื่อสารของกลุ่มติดอาวุธในกระบวนการพูดคุยสันติภาพในอดีต และหลายครั้งของการสื่อสารสะท้อนนัยสำคัญหลายประการ ที่สำคัญคือ การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยหมอดิง อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม ตัวแทนจากกลุ่ม BIPP ผู้รับหน้าที่โฆษกองค์กรร่มมาราปาตานี ซึ่งระบุว่า องค์กรร่มมาราปาตานีประสงค์ที่จะเป็นองค์กรตัวแทนไม่เพียงกลุ่มนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพปาตานีเท่านั้น แต่ยังประสงค์จะเป็นแพลตฟอร์มสำหรับภาคประสังคมในการกำหนดชะตาอนาคตของพื้นที่ อันครอบคลุมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมไทยพุทธ และกลุ่มสตรีด้วย โดยมาราปาตานีเชื่อว่า อิสรภาพหรือเมอร์เดก้า (Merdeka; Independence) นั้นจะยังผลให้เกิดประโยชน์สุขให้กับชนพื้นถิ่นปาตานีทั้งหมด ทั้งมลายู จีน และไทย โดยมาราปาตานียังมุ่งหมายการได้มาซึ่งอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐเป็นเป้าหมายปลายทาง แต่พวกเขาก็พร้อมพิจารณาทางเลือกความเป็นไปได้อื่น ซึ่งอิสรภาพเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับการเจรจา
กระบวนการกัวลาลัมเปอร์รอบ Dialogue II แม้จะส่งผลให้เกิดพัฒนาการบางด้าน แต่ก็ผลักดันการคลี่คลายความรุนแรงในพื้นที่ได้ไม่มากนัก เพราะตัวแทนผู้เข้าร่วมใน Party B หรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น ประกอบขึ้นจากการรวมตัวของกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่ม จึงเผชิญข้อท้าทายเรื่องเอกภาพ อีกทั้งผู้เข้าร่วมส่วนมากเป็นนักต่อสู้ระดับอาวุโส ซึ่งมีอิทธิพลไม่มากนักในการควบคุมนักรบที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ ข้อนี้ส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการเข้าร่วมของ BRN โดยตรง เพราะเป็นกลุ่มที่คุมกำลังปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่มีศักยภาพมากที่สุด โดยจะพบว่า ตั้งแต่กันยายน พ.ศ.2558 มา BRN โดยอับดุลการีม คอลิบ โฆษก/ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (Information Department) ของกลุ่ม ได้สื่อสารผ่านคลิปวิดีโอและการให้สัมภาษณ์เป็นระยะเกี่ยวกับจุดยืน BRN ต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยระบุว่า BRN มีความตั้งใจจะต่อสู้เพื่ออิสรภาพของปาตานีต่อไป โดยพวกเขาไม่ปฏิเสธกระบวนการพูดคุยสันติภาพว่าเป็นแนวทางแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติวิธีร่วมกัน แต่ปฏิเสธกระบวนการที่ดำเนินอยู่ในขณะนั้น คือ Dialogue II และยืนยันว่า BRN ไม่ได้เข้าร่วมและจะไม่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ตราบที่ยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไข 2 ประการเป็นพื้นฐานอย่างน้อย ประการแรกคือ การยอมรับข้อเรียกร้อง 5 ประการซึ่งยังไม่ได้รับการตอบสนองจากกระบวนการ Dialogue I โดยเฉพาะในเรื่องการจัดโครงสร้างกระบวนการใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้มีคนกลางผู้ไกล่เกลี่ยและผู้สังเกตการณ์ต่างชาติ ที่มิใช่มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ปาตานี และประการที่สองคือ รัฐบาลต้องยกเลิกกระบวนการพูดคุยกับมาราปาตานี ซึ่งมีเพียงตัวแทน “อดีต” สมาชิก BRN และหันมาจัดกระบวนการพูดคุยกับ BRN โดยตรงแทน ภายใต้เงื่อนไขตามแถลงการณ์ 5 ประการที่อับดุลการีมเผยแพร่ในรูปแบบคลิปวีดิโอในเดือนตุลาคม พ.ศ.2561
ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดเป็นโวหารเชิงเสียดสีในพื้นที่ปาตานี จำแนก BRN ออกเป็น “บีมา” กับ “บีไม่มา” คำว่า “บีมา” หมายถึง “บี” (BRN) ที่ร่วมอยู่ใน “มา” (มาราปาตานี) หรืออีกนัยหนึ่งคือ “มา” เข้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพรอบนี้ ส่วน “บีไม่มา” หมายถึง “บี” (BRN) ที่ไม่ได้อยู่ใน “มา” (มาราปาตานี) หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ไม่มา” เข้ากระบวนการฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการกำหนดทิศทางสถานการณ์มากกว่า “บีมา” ข้อนี้กลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับรัฐบาลในการจะต้องออกแบบกระบวนการใหม่เพื่อโน้มน้าว “บี” (BRN) ให้เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยสมัครใจ
โจทย์ดังกล่าวนำมาซึ่งการจัดกระบวนการใหม่ โดยตัวแทนรัฐบาลไทยเดินทางไปพบกับตัวแทนกลุ่ม BRN ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2562 ในลักษณะการหารือของทีมเบื้องหลังคณะพูดคุย (back office) โดยการอำนวยความสะดวกประสานงานขององค์กรเอกชนระหว่างประเทศองค์กรหนึ่ง เพื่อหารือการสร้างวงพูดคุยสันติภาพรอบใหม่กับกลุ่ม BRN เป็นการเฉพาะ การดำเนินงานที่ว่านี้เป็นไปอย่างปิดลับ แม้กระทั่งมาเลเซีย ผู้อำนวยความสะดวกของ Dialogue II ก็ไม่รับรู้ การหารือระหว่างตัวแทนของรัฐบาลกับกลุ่ม BRN ที่เบอร์ลิน ซึ่งถูกเรียกว่า ข้อริเริ่มเบอร์ลิน (the Berlin Initiative) ได้ผลลัพธ์ออกมาในรูปของแผนที่นำทาง (roadmap) สำหรับการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพกันในระยะต่อไป อันมีผลสืบเนื่องมาสู่การจัดกระบวนการใหม่ โดยยังคงให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก จึงถูกเรียกเป็นรอบที่ต่อเนื่องกันจากรอบที่ผ่านมาว่า Dialogue III คณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาลกับตัวแทนกลุ่ม BRN ได้เปิดเผยการติดต่อระหว่างกันด้วยการจัดการพูดคุยอย่างเป็นทางการขึ้น ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2563 ที่กัวลาลัมเปอร์ ซึ่งมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก การพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกนี้เป็นการหารือในกรอบของคณะทำงานร่วม นำโดยพลเอกวัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขของรัฐบาล กับอานัส อับดุลเราะห์มาน อดีตหัวหน้ากิจการฝ่ายการเมืองของ BRN ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่าย BRN ผลลัพธ์ที่ปรากฏคือ การตกลงใจกรอบการทำงานร่วมกันเพื่อรับประกันความต่อเนื่องและความก้าวหน้าของการพูดคุยระหว่างกัน
ถัดมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2563 คณะทำงานร่วมได้จัดการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนกรอบการทำงานระหว่างกันดังกล่าวให้ก้าวหน้าต่อ กระนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบทำให้การพูดคุยแบบเผชิญหน้ากันไม่อาจเกิดขึ้นได้ต่อ แม้คณะทำงานร่วมเชิงเทคนิคจะมีประสานงาน ติดต่อ และทำงานร่วมกันผ่านทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการพบปะกันเป็นการส่วนตัวบางครั้ง แต่ปฏิเสธมิได้ว่า ปัจจัยโควิด-19 ทำให้กระบวนการที่มีแนวโน้มก้าวหน้าต้องชะงักอย่างมาก
กระนั้นก็ดี กระบวนการพูดคุยสันติภาพรอบ Dialogue III ก็นับว่ามีพัฒนาการก้าวหน้าค่อนข้างมาก โดยในระหว่างของการเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองฝ่ายพูดคุยหารือกันอย่างกว้างขวางหลายประเด็น ที่สำคัญคือ การแสวงหาทางออกด้วยแนวทางทางการเมืองและการออกแบบการบริหารปกครองใหม่ การมุ่งลดกิจกรรมทางการทหารทั้งสองฝ่าย การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ การปรึกษาหารือกับสังคมสาธารณะ ฯลฯ ความกว้างขวางของประเด็นการพูดคุยหารือเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันได้พอสมควรว่าน่าจะมีสูงกว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ผ่านมา จึงสามารถพูดคุยหารือกันได้ในหลากหลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องมีความยากและละเอียดอ่อน แตกต่างจากกระบวนการช่วงที่ผ่านมา
การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 3 สามารถกลับมาจัดแบบเผชิญหน้าได้อีกครั้งในรอบกว่า 2 ปี เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม พ.ศ.2565 ที่กัวลาลัมเปอร์ โดยครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการสันติภาพชาวต่างชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย 2 ท่าน ตามคำเชิญของตัวแทนกลุ่ม BRN และการยอมรับของตัวแทนรัฐบาล การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้โดยสาระสำคัญ คือ การต่อยอดขยายผลจากการทำงานร่วมกันของคณะทำงานเบื้องหลัง ผ่านช่องทางที่ไม่เป็นทางการ (back channel) ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่ประสบอุปสรรคการพบปะแบบเผชิญหน้าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยมีการหารือจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (joint committee) เพื่อขับเคลื่อนประเด็นเหล่านั้น อันมีเรื่องหลัก คือ การแสวงหาทางออกทางการเมือง การปรึกษาหารือกับสังคมสาธารณะ และการลดความรุนแรง และทั้งสองฝ่ายเห็นชอบเชิงหลักการร่วมกันต่อการจัดทำกรอบการทำงาน (Terms of Reference; TOR) และระเบียบปฏิบัติการ (procedure) ร่วมสำหรับการนำผลลัพธ์ของวงพูดคุยสันติภาพไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่
ต่อมา วันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน พ.ศ.2565 คณะทำงานร่วมได้จัดการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการระหว่างกันขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ที่กัวลาลัมเปอร์ อันถือเป็นครั้งที่มีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของกระบวนการเป็นอย่างมาก ในด้านผู้เข้าร่วมกระบวนการ การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้เป็นการพูดคุยแบบเป็นทางการครั้งแรกที่ผู้นำระดับสูงในปีกการทหารของกลุ่ม BRN คือ เด็ง อะแวจิ เข้าร่วมอย่างเปิดเผยด้วยตนเอง ส่วนด้านผลลัพธ์ การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้ บรรลุผลตกลงที่สำคัญ คือ (1) การรับรองร่วมกันอย่างเป็นทางการต่อหลักการทั่วไปของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Principles of the Peace Dialogue Process) (2) การเสนอกรอบการทำงาน (TOR) อันจะนำมาซึ่งการจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Joint Working Group; JWG) เพื่อแสวงหาข้อสรุปและขับเคลื่อนวาระของสันติภาพร่วมกัน คือ เรื่องทางออกทางการเมือง การรับฟังและปรึกษาหารือกับสังคมสาธารณะ และการลดการใช้ความรุนแรงของทั้งสองฝ่าย (3) การแต่งตั้งผู้ประสานงาน (contact persons) ขึ้นภายในโครงสร้างกองเลขานุการผู้อำนวยความสะดวก และ (4) การตกลงยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งสองฝ่ายในห้วงเดือนรอมฎอน พ.ศ.2565 คือระหว่างวันที่ 3 เมษายน ถึง 14 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำอย่างหนุนเสริมกัน เพื่อสร้างบรรยากาศสันติสุขอันเอื้ออำนวยต่อการประกอบศาสนกิจและดำเนินชีวิตของผู้คนในเดือนรอมฎอน และเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความไว้วางใจและการทำงานร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ผลตกลงประการที่สี่นี้ถูกเรียกเช่นเดียวกับกรอบการทำงานร่วมกันในห้วงของ Dialogue I ในชื่อว่า ข้อริเริ่มรอมฎอนสันติภาพ/สันติสุข (the Ramadan Peace Initiative) ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอรายละเอียดและข้อวิเคราะห์ในโอกาสต่อไป
กล่าวได้ว่า กระบวนการดังกล่าวก็ประสบปัญหาลักษณะเดียวกันกับรูปแบบแรก คือ การจำกัดความเป็นไปได้ของข้อตกลงยุติทางการเมืองเอาไว้ด้วยเพดานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ส่งผลให้วาระที่จะสานเสวนา ทำความเข้าใจ และหาทางออกโดยยอมรับเอาความปรารถนาของแต่ละฝ่ายเข้าไว้ในการมีมติร่วมกัน เป็นไปได้เพียงคำตอบเฉดต่างๆ ที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วคำตอบสุดโต่ง นอกจากนี้ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินมาแต่ละรอบ รวมทั้งรอบปัจจุบัน ยังสะท้อนอย่างรู้สึกได้ถึงสถานะทางอำนาจอันไม่เท่าเทียมระหว่างคู่สนทนา ส่งผลให้ในโลกคู่ขนานกับโต๊ะพูดคุย ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องแสดงออกถึงขีดอำนาจในสนามรบเพื่อจะเพิ่มอำนาจบนโต๊ะพูดคุย พร้อมกับถ่วงดุลอำนาจอีกฝ่ายในสนามรบ เพื่อลดอำนาจของฝ่ายตรงข้ามบนโต๊ะพูดคุย อย่างเป็นวงจร
สนามรบกับโต๊ะพูดคุยจึงไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ ภายใต้กรอบเงื่อนไขเพดานจำกัดที่รัฐไทยตีคอกล้อมเอาไว้
———————–
1,509 ครั้ง