รัฐบาลไทยกับแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional: BRN) ในการพูดคุยสันติภาพ ครั้งที่ 4 เมื่อ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 ได้บรรลุข้อตกลงสำหรับการทำงานร่วมกันหลายประการ อันทำให้การพูดคุยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ปรากฏความคืบหน้าของกระบวนการอย่างเป็นรูปธรรมอย่างมาก หนึ่งในข้อตกลงระหว่างทั้งคู่ คือ ข้อริเริ่มรอมฎอนสันติสุข อันมุ่งหยุดปฏิบัติการทางทหารโดยต่างฝ่ายต่างทำอย่างหนุนเสริมกัน ในห้วงเดือนรอมฎอน 2565 (วันที่ 3 เมษายน – 14 พฤษภาคม 2565) บทความชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อชวนทบทวนเชิงประเมินผลกระบวนการทำงานภายใต้ข้อริเริ่มดังกล่าวอันมุ่งสะท้อนข้อสังเกตต่อการยกระดับการทำงานระยะต่อไป
1. ปฏิบัติการทางทหารในห้วงเดือนรอมฎอน
สถิติการเกิดเหตุรุนแรงเชิงเปรียบเทียบระหว่างห้วงเดือนรอมฎอน 2565 ที่มีข้อริเริ่มรอมฎอนสันติสุข กับห้วงเวลาก่อนหน้า ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่า มีจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงทางกายภาพลดลง ซึ่งแสดงผลว่า ประเด็นความร่วมมือข้อนี้บรรลุความสำเร็จเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเดียวกันนี้สะท้อนถึงเพียงความสำเร็จในการลดเหตุรุนแรงเชิงกายภาพเท่านั้น อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในคำแห่งข้อตกลง คือ “ปฏิบัติการทางทหาร” เมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ของคำดังกล่าว จะพบว่า องค์ประกอบอื่นของปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะจากการปฏิบัติงานของรัฐบาลไทย ก็เป็นประเด็นที่น่าสำรวจตรวจสอบเช่นกัน
รูปภาพจาก BBC เข้าถึงได้จาก https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/16F71/production/_124356049_a68b5aad-4a09-4657-aed6-acfe65a7521c.jpg.webp เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565.
ข้อมูลจากกลุ่มอิสระติดตามผลประกาศหยุดยิง (Independent Monitoring Team; IMT) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งเพื่อติดตามและประเมินผลสถานการณ์ความรุนแรงในห้วงเดือนรอมฎอนดังกล่าว ตอบคำถามต่อประเด็นที่ต้องการสำรวจตรวจสอบพอสมควร โดย IMT ประยุกต์แนวคิดจากกรณีศึกษามินดาเนา ซึ่งการติดตามประเมินผลความรุนแรง จำต้องให้น้ำหนักในมิติสิทธิมนุษยชนประกอบด้วย เมื่อนำมาปรับใช้กับกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มาซึ่งประเด็นเก็บข้อมูลที่กว้างกว่าเหตุความรุนแรงทางกายภาพ ผู้เขียนอาศัยข้อมูลจากกลุ่มดังกล่าวซึ่งพวกเขาจะนำเสนอรายงานผลฉบับสมบูรณ์ในเร็ววันนี้ ประกอบกับเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนในพื้นที่ที่ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยสอบถาม สามารถระบุผลโดยสังเขปได้ ดังนี้
- การปลดป้ายผู้ต้องหาตามด่านตรวจต่างๆ ได้รับการดำเนินการตามเป้าหมาย โดยมีการออกหนังสือราชการเป็นคำสั่งลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน อันมีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีได้เพิ่มมากขึ้น
- การปรับลดด่านตรวจ เป็นองค์ประกอบที่มีเสียงสะท้อนหลากหลาย ผู้ให้ข้อมูลบางส่วนรู้สึกว่าจำนวนไม่ได้ลดน้อยลง แต่อีกบางส่วนรู้สึกว่าจำนวนของด่านตรวจลดลงกว่าภาวะปกติในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นข้อยืนยันตรงกันคือ แบบแผนของด่านตรวจถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นด่านของตำรวจเข้าแทนที่ด่านของทหาร ข้อนี้อันที่จริง เป็นแนวโน้มของการปรับตัวซึ่งดำเนินมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ข้อริเริ่มรอมฎอนสันติสุขอาจเป็นปัจจัยหนุนให้กระบวนการปรับเปลี่ยนดังกล่าวปรากฏเร็วและชัดเจนขึ้นในพื้นที่ กระนั้น ยังปรากฏข้อมูลรายงานการถ่ายบัตรประชาชนที่ด่านตรวจหลายครั้ง ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ในห้วงก่อนจะเข้าสู่เดือนรอมฎอน คือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า โดยพลตรีปราโมทย์ พรหมอินทร์ ยืนยันในการพบปะกับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้เขียนเป็นคณะทำงานด้วยว่า แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีคำสั่งไปยังหน่วยใต้บังคับบัญชาว่า การถ่ายบัตรประชาชนที่ด่านตรวจเป็นสิ่งมิอาจกระทำได้ แต่คำสั่งดังกล่าวเป็นไปในทางวาจาเท่านั้น ประกอบกับไม่มีอำนาจสั่งการข้ามส่วนราชการไปยังตำรวจ ข้อนี้จะเห็นว่ามีกระบวนการสั่งการที่แตกต่างกันกับการปลดป้ายผู้ต้องหาตามด่าน การใช้อำนาจโดยมีหนังสือราชการเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นเพื่อให้ปฏิสัมพันธ์และข้อขัดแย้งที่อาจปรากฏดำเนินไปโดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์อ้างอิง อันจะช่วยลดบรรยากาศของความคลุมเครือที่ความรู้สึก อารมณ์ และปฏิบัติการข่าวสารสามารถเข้ามาแทนที่ รวมทั้งประเด็นเรื่องเอกภาพของส่วนราชการระดับปฏิบัติการก็มีความสำคัญในการกำกับทิศทางให้สอดรับกับระดับนโยบาย อันครอบคลุมถึงวงพูดคุยสันติสุขด้วย ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- การปรับเปลี่ยนรูปแบบของด่านตรวจจากด่านทหารมาเป็นด่านตำรวจในห้วงเดือนรอมฎอน ดำเนินการควบคู่ไปกับยุทธวิธีลาดตระเวนโดยกองกำลังทหารที่เข้มข้นและถี่ขึ้น โดยเฉพาะในแถบกำปง รวมทั้งมาตรการเข้าบังคับใช้กฎหมายตรวจค้น ปิดล้อม จับกุม และสังหารนอกระบบกฎหมายดูจะถูกแทนที่ด้วยยุทธวิธีนำกำลังพลเยี่ยมบ้านเรือนเป้าหมายในช่วงรอมฎอน ซึ่งในมุมของฝ่ายความมั่นคงอาจรู้สึกว่าเป็นการลดระดับกิจกรรม แต่ในมุมมองประชาชนซึ่งถูกเข้าเยี่ยมและพบทหารเดินถืออาวุธลาดตระเวนในกำปง รู้สึกว่าเป็นสิ่งคุกคามและอันตราย อันชี้ว่า การปรับยุทธวิธีทั้งสองกรณีนี้ไม่ตอบเป้าหมายของการลดปฏิบัติการทางทหารที่มีเป้าหมายคือการสร้างบรรยากาศสันติในความรู้สึกร่วมของประชาชนในพื้นที่ แม้หน่วยงานด้านความมั่นคงจะมีเหตุผลในเรื่องการรักษาความปลอดภัยตามบทบาทหน้าที่ของตนก็ตาม
- แถลงการณ์ของพล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ บ่งชี้เป้าประสงค์ของข้อริเริ่มรอมฎอนสันติสุขไว้ประการหนึ่งว่ามุ่งสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติสุขในเดือนรอมฎอน ข้อนี้จะให้ความสำคัญเพียงสภาวะแวดล้อมด้านการทหารมิได้ แต่ต้องครอบคลุมการเกื้อหนุนสภาวะแวดล้อมด้านการเมืองที่มีสันติด้วย ดังนั้น กิจกรรมแสดงออกเชิงอัตลักษณ์วัฒนธรรมและการเมืองด้วยการสวมใส่ชุดมลายูในกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เมื่อ 4 พฤษภาคม 2565 ของกลุ่มเปอร์มูดอ (เยาวชนชาย) จึงไม่ควรถูกคุกคามและติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ นิยามของการยุติหรือลดปฏิบัติการทางทหารจำต้องครอบคลุมด้านของการเปิดพื้นที่ทางการเมืองด้วย
2. ข้อสังเกตต่อการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพระยะต่อไป
นอกจากการอภิปรายถึงองค์ประกอบด้านอื่นในคำแห่งข้อตกลงที่ว่าด้วยปฏิบัติการทางทหาร ผู้เขียนพบว่าขณะที่ผลจากการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 4 นี้จะดูมีความก้าวหน้าค่อนข้างมากแล้ว อีกด้านหนึ่ง บทบาทของภาคประชาสังคมที่รวมกลุ่มกันติดตามประเมินผลอย่างเข้มแข็งในห้วงเดือนรอมฎอนนี้ ก็เป็นสิ่งสะท้อนความก้าวหน้าของภาคประชาสังคมในการเป็นสะพานเชื่อมวงพูดคุยสันติภาพกับประชาชนฐานรากในพื้นที่ และเป็นกลไกที่ควรได้รับการหนุนเสริม มอบบทบาท รวมทั้งมีส่วนร่วมบนโต๊ะพูดคุยระยะต่อไป ทั้งในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ และในฐานะที่องค์กรเหล่านี้เป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
ในส่วนของกระบวนการพูดคุยสันติภาพในมิติของการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระยะต่อไป อาจพิจารณาทบทวนประเด็นต่างๆ ดังนี้
- บทบาทของผู้ประสานงาน (contact person) และผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการส่งต่อประสานข้อมูลระหว่างสองฝ่าย ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
รูปภาพ อานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะบีอาร์เอ็น (ซ้าย) จับมือกับ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ (ขวา) โดยมีตันซรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นอร์ ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย อยู่ตรงกลาง รูปภาพจากคณะประสานงานระดับพื้นที่-สล.3 เข้าถึงได้จาก https://ichef.bbci.co.uk/news/800/cpsprodpb/B2BB/production/_124355754_56b2993e-1d5c-4165-8c7c-86520dac6568.jpg.webp เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565
- การให้ความสำคัญกับการกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการของคำสำคัญแห่งข้อตกลง เช่นคำว่า ปฏิบัติการทางทหารว่ามีความหมายและขอบเขตอย่างไร รวมทั้งกำหนดเกณฑ์และดัชนีชี้วัดที่เปิดเผยกับประชาชนได้ โดยเปิดพื้นที่ให้องค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการออกแบบนิยาม กำหนดเกณฑ์วัดประเมิน และติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการปฏิบัติในพื้นที่
- ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยพึงระลึกว่า การก่อเหตุรุนแรงหรือการลดเหตุรุนแรงมิได้มีฐานะเป็นเป้าหมายที่จะกำหนดร่วมกัน แต่เหตุรุนแรงเป็นวิธีการในการมุ่งสู่เป้าหมายทางการเมือง คือ รูปแบบหน้าตาของอำนาจที่ชอบธรรมในการบริหารปกครองผู้คนและพื้นที่ จึงไม่ควรให้น้ำหนักความสำคัญไปเพียงในเรื่องการลดเหตุรุนแรงทางกายภาพ ในแง่นี้ ควบคู่ไปกับการแสวงหาความตกลงทางการทหารบนโต๊ะเจรจา จึงจำต้องให้น้ำหนักกับการนำวาระความเห็นพ้องทางการเมืองไปสู่รูปธรรมจริงด้วย การก่อเหตุรุนแรงในห้วงรอมฎอนโดยกลุ่มพูโลออกมาแสดงความรับผิดชอบ สะท้อนว่ากระบวนการแสวงหาและขับเคลื่อนความตกลงทางการเมืองไปสู่การปฏิบัติจำต้องดำเนินการด้วยหลักการผนวกรวมความปรารถนาที่อาจแตกต่างจากธงและเพดานเป้าหมายพอที่จะยอมรับได้ของรัฐบาลเข้าไว้ในกระบวนการด้วย และการก่อเหตุรุนแรงหลังห้วงเวลาของข้อริเริ่มรอมฎอนสันติสุข ไม่มากก็น้อย ยืนยันว่าการลดลงไปของเหตุรุนแรง (หรือกระทั่งการเพิ่มขึ้น) เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับเจตนาที่บีอาร์เอ็นจะกระทำหรือไม่กระทำอย่างมีศักยภาพและควบคุมได้มากพอสมควร การบรรลุเป้าหมายร่วมด้านการทหารในการลดเหตุรุนแรงเชิงกายภาพ ขณะที่มีการขาดหายไปของการตอบสนองทางการเมืองอย่างจริงจัง บ่งชี้อีกครั้งว่า เหตุรุนแรงเป็นวิธีการ แต่การเมืองเป็นเป้าหมาย ทั้งนี้ ไม่มากก็น้อย การแสดงออกของเปอร์มูดอและเปอร์มูดีในการสวมใส่ชุดมลายูสะท้อนข้อคิดบางอย่างว่า กระบวนการทางการเมืองในกรอบการพูดคุยสันติภาพในระยะต่อไปนั้น เพิกเฉยต่อความคิด ความปรารถนา และบทบาทมีส่วนร่วมที่มากขึ้นของประชาชนไปมิได้
710 ครั้ง