ศัพท์น่ารู้ในกระบวนการสันติภาพ 01 : การพูดคุยสันติภาพ

การพูดคุย เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ได้ให้กำเนิดการพูดคุยเพื่อเป็นวิธีการในการสื่อสารและสร้างสังคม ตลอดเวลาที่ยาวนาน การพูดคุยมีการพัฒนาถึงรูปแบบและได้ใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย การพูดคุยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพูดคุย ตกลง หรือต่อรอง ในกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างหลากหลายทั้งในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการพูดคุย เป็นวิธีการที่เป็นอารยะ ปราศจากความรุนแรง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน

การพูดคุยในกระบวนการสันติภาพ มีหลากหลายรูปแบบและหลายช่องทาง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มักจะมีองค์ประกอบที่ชัดเจน มีขั้นตอนและเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ในวันนี้มาทำความรู้จักเกี่ยวกับคำศัพท์ที่เกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพกันเถอะ ซึ่งนอกจากจะได้รับรู้ความหมายในบริบทของการสร้างสันติภาพแล้ว คำศัพท์เหล่านี้ยังได้เผยให้เห็นถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง วิธีการ และลักษณะของกระบวนการอีกด้วย

Peace dialogue

หลายคนคงเคยได้ยินหรือได้พบเห็นคำศัพท์หลากหลายคำที่ให้ความหมายถึง การพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีหลากหลายคำ ไม่ว่าจะเป็น “การพูดคุยสันติภาพ” “การเจรจาสันติภาพ” “การพูดคุยเพื่อสันติสุข” หรือคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ เช่น “Peace dialogue” หรือ “Peace negotiation” บ่อยครั้ง คำเหล่านี้มักทำให้ปวดหัวอยู่เสมอ เพราะนอกจากจะไม่รู้ว่าความหมายเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างแล้ว ยังกังวลว่าจะเลือกใช้คำไหนดีให้เหมาะสมกับบริบท และความหมายที่เราต้องการสื่อสารออกไป

โดยทั่วไปแล้ว การพูดคุยสันติภาพ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า การเจรจาเพื่อสันติภาพ นั้น อาจจะใช้คำว่า peace dialogue ในลักษณะที่เป็นทางการ และในหนังสือพิมพ์หรือในสื่อเรามักจะเจอคำว่า peace talks ซึ่งก็ให้ความหมายเหมือนกัน ซึ่งในการพูดคุยสันติภาพนั้น มีหลากหลายระดับ และหลายรูปแบบ คำว่า peace dialogue นั้น โดยพื้นฐานแล้ว เป็นการพูดคุยในระยะเริ่มต้น ที่อาจจะยังไม่มีการผูกพันถึงข้อตกลงใดๆที่เป็นประเด็นหลักหรือเป็นเพียงการออกกฎ กติกาการพูดคุยร่วมกัน เป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายคู่ขัดแย้งได้เรียนรู้ และสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน (การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในปัจจุบัน ใช้คำว่า peace dialogue และรัฐบาลไทยแปลเป็นภาษาไทยว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุข)

การเจรจาสันติภาพ เป็นรูปแบบของการปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ของตัวแทนกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งหมด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ สร้างความเข้าใจในสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้งและแรงจูงใจในการใช้ความรุนแรงของคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่าย ซึ่งการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกันนี้ นำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและแสวงหาหนทางในแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน รวมถึงการลดความรุนแรง และการสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติและยั่งยืน

ลักษณะของการเจรจาสันติภาพ ไม่จำเป็นต้องกำหนดกรอบเวลาและรูปแบบที่ชัดเจนขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความเหมาะสม ซึ่งอาจใช้ถูกควบรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการปูทางไปสู่การเจรจาต่อรองได้ต่อไป

Peace Negotiation

การเจรจาต่อรอง

เป็นรูปแบบหนึ่งของการเจรจาสันติภาพที่มีลักษณะเป็นทางการระหว่างฝ่ายคู่ขัดแย้งที่มีจุดสนใจและความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีการเจรจาต่อรองในกระบวนการสันติภาพนี้จะมีการกำหนดเป้าหมาย การเข้าร่วมการเจรจา เนื้อหาสาระการเจรจาต่อรอง และระยะเวลาของกระบวนการไว้อย่างชัดเจน ซึ่งกระบวนการการเจรจาต่อรองนี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงที่ฝ่ายคู่ขัดแย้งได้รับประโยชน์ร่วมกัน ที่อาจนำไปสู่สร้างรูปแบบการอยู่ร่วมกันโดยปราศจากการใช้ความรุนแรง

ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการที่กินระยะเวลายาวนาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการพูดคุยสันติภาพจะมีหลายช่วงเวลาตามบริบทความเหมาะสม เช่น การเจรจาทางลับ (Backchannel) หรือเมื่อการพูดคุยสันติภาพ (Peace dialogue) เป็นสบความสำเร็จ ก็อาจจะมีการยกระดับการพูดคุยที่สูงขึ้นไป เป็นการเจรจาต่อรอง นั่นคือ คำว่า negotaition หรือการเจรจาต่อรอง นั่นเอง ซึ่งก็อาจจะเรียกว่า การเจรจาต่อรองเพื่อสันติภาพ (peace negotiation) ที่ฝ่ายคู่ขัดแย้งจะประสานประโยชน์เพื่อที่จะหาข้อตกลง หรือหาแนวทางใรการยุติปัญหาความขัดแย้ง อย่างเป็นรูปธรรม หรืออาจบรรลุข้อตกลงเพื่อสันติภาพได้

อ้างอิง

Berghof Foundation. (2021). Negotiations, Dialogue, and Mediation. Berghof Foundation. Retrieved from https://berghof-foundation.org/news/negotiations-dialogue-and-mediation

 1,137 ครั้ง

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ