บทความนี้เป็นการแบ่งปันมุมมองและบอกเล่าประสบการณ์ เรื่องราวความประทับใจของเยาวชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ Discover Patani ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ (PRC) ที่ได้นำเยาวชนจากทั่วประเทศและเยาวชนจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ความขัดแย้งและสันติภาพ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม
ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากมองในแง่ผู้ทรงอิทธิผลทางความคิดของคนในพื้นที่มากที่สุดคือ “ผู้นำทางศาสนา” หรือ บาบอ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญต่อการทำความเข้าใจ มองไปถึงรากเง้าของปัญหาว่าเราควรแก้ในทิศทางใด? อะไรคือปัจจัยสำคัญที่นำมาไปสู่ความขัดแย้ง?
หากอ้างตามหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย” โดยดันแดน แม็กคาร์โก ให้ความเห็นว่า ศาสนาไม่ใช่ประเด็นหลักที่นำไปสู่ความขัดแย้ง แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหา สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาอันยาวนานนั้นคือความบกพร่องที่ชอบธรรมของรัฐบาลไทย ในด้านการจัดความมั่นคงและความเป็นธรรมทางนิติกฎหมาย
ผู้เขียนอยากชวนวิเคราะห์เชิงมานุษยวิทยา ในงานวิจัยและบทความหลายฉบับที่เขียนถึง ประเด็นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะหา “สาเหตุของความขัดแย้ง” แต่อยากให้ลองกลับมาตั้งคำถามและข้อสังเกตในรูปแบบใหม่ว่า “อะไรคือความขัดแย้งในสาเหตุนี้” เรามักจะเห็นวงเสวนามากมายที่นำเสนอประเด็น เรื่องความขัดแย้งทางอัตลักษณ์และสังคมพหุวัฒนธรรม และตั้งถามต่อรัฐไทยว่า รัฐไทยละเลยต่อการให้ความสำคัญในเรื่องนี้และ ไม่มองเรื่องการสร้างความเท่าเทียมกัน ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นวาทกรรมนี้แพร่หลายมากในวงเสวนาและงานเขียนวิชาการ
มุมมองของอาจารย์ธเนศ ได้วิเคราะห์บนบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางศาสนาว่ามีผลอย่างไรต่อปัจจุบัน? หากเราเอาแนวคิดการวิเคราะห์ของอาจารย์ธเนศ มาใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจกล่าวได้ว่า “ศาสนาเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง” แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในแวดวงวิชาการว่า “ความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่ปัญหาทางศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน”
สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะตั้งคำถามหาข้อสรุปใหม่ถึงประเด็นสังคมพหุวัฒนธรรม จากหนังสือของอาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา “อะไรคือความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม” อาจารย์ได้ตั้งคำถามว่า การที่เราสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมรั้งแต่จะสร้างความเสียหาย ในหนังสือเล่มนี้เป็นการชำแหละวาทกรรมถึงประเด็นพหุวัฒนธรรมว่า ในตัวของมันเองมีปัญหาผิดปรกติอย่างไร เราสังเกตเห็นว่ารัฐไทยพยายามชูนโยบายให้งบประมาณต่อการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมมาในพื้นที่สามจังหวัดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผ่านทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สังคมเป็นเอกภาพร่วมกันแต่กลับล้มเหลว
อาจารย์ธเนศ ได้ถอดรื้อวาทกรรมสังคมพหุวัฒนธรรมว่าเป็นกรอบคิดเรื่องของความหลากหลาย เป็นผลผลิตของโลกกลางศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นการตอบสนองปัญหาทางการเมืองของรัฐประชาชาติ ความ หลากหลายทางวัฒนธรรมจึงดำรงอยู่ได้ในฐานะประเพณีประดิษฐ์ อันเป็นผลพวงของสภาวะสมัยใหม่ ซึ่งในแต่ละวัฒนธรรม เช่น ชาวมุสลิม จีน พุทธ หรือแนวคิดทางการเมือง เสรีประชาธิปไตย สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ต่างก็มีชุดกรอบคิดคุณค่าของมันที่มีความเป็นสมบูรณ์นิยมภายในตัว (Universalism) ที่เรียกว่า “ราก” เป็นสภาวะที่ไม่สามารถที่จะโยกย้ายไปไหนไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างพยายามที่จะรักษาหวงแหนคุณค่าของตัวเองไว้ การที่เรายอมรับคุณค่าของความหลากหลายที่มีอยู่ในสังคมเท่ากับว่าเราลดทอนคุณค่าของตนเองไป เอาเข้าจริงแล้วสังคมที่เคารพความหลากหลายนั้นไม่ใช่เกิดจากความจริงใจแต่เป็นเพียงแค่สภาวะความกลัวและการมีอำนาจที่ด้อยกว่า
หากมองในมิติระดับรัฐ รัฐไทยพยายามที่สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมอยู่บนความเป็นเอกภาพร่วมกัน แต่ความร่วมกันนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของใคร? ไม่กล่าวถึงเรื่องการเลือกปฏิบัติทางด้านกฎหมาย และการเข้าถึงโอกาสในสังคม มุมมองของรัฐไทยก็พยายามที่จะให้คำนิยามใหม่ต่อชุมชนชาวมลายูมุสลิมในเชิงลบ หมายถึงความสัมพันธ์เชิงชาติพันธุ์มีอิทธิผลต่อการปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มลายู ในเชิงวัฒนธรรมพวกเขาแสดงออกอัตลักษณ์ที่โดดเด่นมาก ในขณะที่รัฐไทยมีแนวโน้มส่งเสริมบรรทัดฐานวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวโดยมักให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทย ย่อมส่งผลให้เกิดความตึงเครียดต่อต้านรัฐไทยจากคนในพื้นที่
กระนั้นก็ตาม ทางออกการแก้ปัญหาโลกทัศน์ของอาจารย์ธเนศ คือการที่จะสร้างสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างหลากหลายนั้นคือการตรึงคุณค่าทั้งสองที่ไม่แทรกแซงทั้งระเบียบวินัยทางศีลธรรมและจริยธรรมทั้งสองฝ่ายบนหลักการของความอดกลั้นและการประนีประนอม แต่การความอดกลั้นและการประนีประนอมนั้นก็ไม่ได้การันตีว่ามันจะสร้างลดความขัดแย้งได้นานแค่ไหน ความอดกลั้นและการประนีประนอมเปรียบเสมือนการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ซึ่งมโนทัศน์ของอาจารย์ธเนศ กล่าวได้ว่า เป็นรูปแบบสังคมจะต้องอยู่กันในลักษณะก่อนล่าอาณานิคมเป็น ชนเผ่าที่อยู่ตามอาศัยและใช้การปกครองประชาธิปไตยแบบตัวแทน และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการจัดการตนเอง และเข้าใจต่อบริบทของคนในพื้นที่ยิ่งกว่า “คนกรุงเทพรู้ดี”
อ้างอิง
แม็กคาร์โก, ดันแคน. ฉีกแผ่นดิน :อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทยแปลโดย . ณัฐธยาน์ วันอรุณวงศ์.คบไฟ :กรุงเทพก .บรรณาธิการแปลโดย รอมฎอน ปันจอร์ . 2555.
ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ความไม่หลากหลายของความหลากหลายทางวัฒนธรรม .พิมพ์ครั้งที่ .3 กรุงเทพมหานคร: สมมติ2560 .
แบ่งปันมุมมองโดย
มะดีห์
846 ครั้ง