เจ้าเจ็ดหัวเมืองสู่กบฏเจ้าเจ็ดตนแห่งปาตานี

บทความนี้เป็นการแบ่งปันมุมมองและบอกเล่าประสบการณ์ เรื่องราวความประทับใจของเยาวชนที่ได้เข้าร่วมโครงการ Discover Patani ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ (PRC) ที่ได้นำเยาวชนจากทั่วประเทศและเยาวชนจากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ความขัดแย้งและสันติภาพ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม

คำว่า “กบฏ” หลายคนอาจได้ยินอยู่บ้าง หากได้ศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนของคนภูมิภาคต่างๆของประเทศไทยในอดีต

อาณาจักรล้านช้างทางภาคอีสานของประเทศไทย เกิด “กบฏผู้มีบุญ” เราทราบหรือไม่ว่าเขาคือใคร? หลายๆคนอาจจะรู้สึกไม่คุ้นหู แต่หากกล่าวถึง “กบฏผีบุญ” อาจเคยได้ยินกันมาไม่มากก็น้อย “กบฏผู้มีบุญ” ถูกวาทกรรมการโจมตีจากรัฐสยามว่าเป็นผีบ้าจึงถูกตั้งชื่อว่ากบฏผีบุญ และถูกเรียกขานเช่นนี้มาจนปัจจุบัน โดยที่ความจริงแล้วประชาชนผู้ลุกขึ้นสู้เป็นเพียงผู้นำคนธรรมดาที่พยายามชักจูง โน้มน้าวให้ประชาชนในพื้นที่ปกป้องบ้านเกิดของตนจากรัฐสยาม และสามาถทำให้ประชาชนกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐสยามที่กำลังรุกรานบ้านเกิดของตน

เช่นเดียวกันก่อนที่จะมีภาคเหนือในประเทศไทย เคยเป็นอาณาจักรล้านนามาก่อน ตามประวัติศาสตร์อาณาจักรล้านนา การเกิดกบฏหรือผู้ที่ต้องการปกป้องบ้านเกิดของตน จะถูกเรียกว่า “กบฏเงี้ยว” โดยรัฐสยามใช้วาทกรรมเรียกขานกบฏเงี้ยวว่า “กบฏเงี้ยวปล้นเมืองแพร่” ทำให้ภาพลักษณ์ของโจรปล้นแผ่นดินถูกติดตรึงมาจนถึงปัจจุบัน แต่โดยความจริงนั้น รัฐสยามไม่ต้องการประเทศราชแล้ว และต้องการรวมศูนย์อำนาจ สร้างระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อลดอำนาจหัวเมืองต่างๆ


หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องกบฏของทั้งทางภาคเหนือและภาคอีสานกันมาอยู่บ้างจนเป็นปกติ แต่ในภาคใต้โดยเฉพาะพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และสี่อำเภอในจังหวัดสงขลา ล้วนเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับข่าวสารหรือศึกษาประวัติศาสตร์ที่เป็น “ความจริง” ของพื้นที่เลย และแม้กระทั่งไม่คิดที่อยากจะลองไปสัมผัสพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยซ้ำ

เนื่องจากผู้เขียนได้มีโอกาสท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ศึกษาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากนักวิชาการ อาจารย์ที่สอนในพื้นที่และปราชญ์ชาวบ้านทำให้ผู้เขียนสนใจศึกษาการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นทางภาคอีสานและภาคใต้เข้าด้วยกัน โดยครั้งหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปทัศนศึกษาที่บ้านสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ศึกษาเรื่อง กบฏผู้มีบุญ และพบว่ามีการเชื่อมโยงกันสูงมากกับยุคสมัยการเกิดกบฏเจ้าเจ็ดตนแห่งปาตานี และไม่ใช่เพียงแค่กบฏผู้มีบุญแห่งภาคอีสานเท่านั้น กบฏเงี้ยวแห่งภาคเหนือก็มีการเชื่อมโยงกับกบฏเจ้าเจ็ดตนแห่งปาตานีเช่นกัน โดยพบว่าในปี พ.ศ. 2444 ในช่วงรัชกาลที่ 5 ในปีเดียวกัน มีการเกิดกบฏกันทั้งสามภูมิภาค อาณาจักรล้านนา และยุคอาณาจักรล้านช้าง และอาณาจักรปาตานี (พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้)

ในอาณาจักรปาตานี รัฐบาลสยามต้องการให้หัวเมืองที่ปกครองตนเองทั้งเจ็ดหัวเมืองโดยมี “สุลต่านเต็งกูอับดุลกาเดร์กามารุดดิน” เป็นเจ้าเมืองใหญ่ ถูกบังคับให้รวมศูนย์อำนาจการปกครองโดยรัฐสยามเท่านั้น โดยทั้งเจ็ดหัวเมือง ได้แก่ “ปัตตานี หนองจิก ยะหริ่ง รามันห์ ยะลา สายบุรี และระแงะ” จะต้องมีปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง ผู้เก็บภาษีอากร และผู้ช่วยราชการเมืองไปช่วยราชการแทนทั้งเจ็ดหัวเมือง เมื่อรัฐสยามส่งผู้เก็บภาษีอากรมาที่เจ็ดหัวเมืองใต้ ได้แบ่งภาษีให้เจ็ดหัวเมืองเพียงร้อยละ 12.5 เท่านั้น และไม่ให้รายได้ส่วนนี้กับเจ้าหัวเมืองเลย โดยเจ้าหัวเมืองที่รัฐสยามแต่งตั้งมากำกับการดูแลได้มีการบังคับให้ประชาชนเสียภาษี การบังคับขู่เข็ญและความไม่เป็นธรรมนี้สร้างความไม่พอใจให้หัวเมืองทั้งเจ็ดเป็นอย่างมาก สุลต่านเต็งกูอับดุลกาเดร์ กามารุดดิน จึงเรียกประชุมเจ้าเมืองต่างๆ และเจ้าเมืองทั้งเจ็ดต่างเห็นชอบที่จะก่อกบฏขึ้น อาณาจักรปาตานีมีการจดบันทึกการก่อกบฏเพื่อเป็นอิสระต่อรัฐสยามไปทั้งหมด 6 ครั้ง หากนับจนถึงปีพ.ศ. 2445 หลังการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐสยามเพียงปีเดียว ซึ่งการก่อกบฏเพื่อปกป้องบ้านเมือง สิทธิ์ในการปกครองตนเอง และอาณาจักรปาตานีสิ้นสุดยุคสมัยแห่งรายาปาตานีไว้ที่สุลต่านเต็งกูอับดุลกา เดร์กามารุดดิน และไม่มีการปรากฎการแต่งตั้งสุลต่านขึ้นอีกเลย

วาทกรรมที่รัฐสยามตั้งให้การก่อกบฏสุดท้ายแห่งรายาปาตานีก็คือ “กบฏเจ้าเจ็ดตนแห่งปาตานี” เช่นเดียวกับกบฏผีบุญ และกบฏเงี้ยวปล้นแพร่ รัฐสยามก็ได้ตีตราความผิดบาป และสร้างอคติต่อประชาชนผู้รัก แผ่นดินของตนโดยวาทกรรมที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน ดังเช่นการบันทึกหนังสือของ “เตช บุนนาค” ในข้อเขียน “พระยาแขกเจ็ดหัวเมืองคบคิดขบถ ร.ศ. 121” ความว่า “ในรัชกาลอันยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2452) ปี ร.ศ. 121 หรือ พ.ศ. 2445 เป็นปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์รุนแรง บังเกิดขึ้นมากผิดปกติ” เหตุการณ์ที่ว่า “รุนแรง” นั้นได้แก่ขบถผู้มีบุญภาคอีสาน ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2444 จนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2445 ทางภาคเหนือเกิดขบถเงี้ยวเมืองแพร่ ตั้งแต่ปลายเดือน กรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2445 ทั้งสองเหตุการณ์รัฐบาลต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ในปีเดียวกันพระยาแขกเจ้าเมือง ตานี ยะหริ่ง สายบุรี ระแงะ รามันห์ ยะลา และหนองจิก “ก็แสดงท่าทีว่าได้คบคิดขบถอยู่บ้างเหมือนกัน แต่รัฐบาลสามารถระงับเหตุการณ์ไว้ได้ก่อน เรื่องจึงมิได้ลุกลามขึ้นเป็นขบถเช่นที่อื่น” แต่ เตช บุนนาคได้วิเคราะห์ต่อไว้ว่ากรณีพระยาแขกทั้งเจ็ด เมื่อปี 2445 นั้นยังไม่ใช่ขบถ เป็นแต่เพียง “คบคิด ขบถ” ยังไม่เกิดความรุนแรงขึ้น เพราะทางรัฐสยาม ยับยั้งไว้ได้ก่อนจึงมิได้มีใครเจ็บใครตายดังเช่น การปราบปรามด้วยกำลังทหารในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในสายตาของประชาชนทั้งยุคก่อนสู่ยุคปัจจุบันอีกมากได้ถือว่าเกิด “กบฏ” ขึ้นแล้ว และเพราะถือว่าเกิด “กบฏ” ก็อาจเข้าใจต่อไปด้วยว่าเกิดความ รุนแรงขึ้น สร้างการตรีตราให้เจ้าผู้ครองหัวเมืองทั้งเจ็ดผิดบาป และเป็นตัวร้ายในสายตาประชาชนรัฐสยาม

คำอธิบายปรากฏการณ์ “ขบถ ร.ศ. 121” โดยเฉพาะกรณีพระยาแขกทั้งเจ็ด “คบคิดกบฏ” อาจสรุป ได้ว่า เป็นปฏิกิริยาของท้องถิ่นต่อการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ โดยอาศัยการปฏิรูปการปกครอง ของรัชกาลที่ 5 ส่วนเหตุผลแห่งการปฏิรูปของรัชกาลที่ 5 ก็คือความจำเป็นที่ต้องปรับรูปสยามให้เป็นรัฐชาติ สมัยใหม่ เพื่อโต้ตอบกับอิทธิพลอำนาจของจักรวรรดินิยมฝรั่งที่แวดล้อมประเทศอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสเมื่อเสด็จประพาสหัวเมืองมลายู ในปี พ.ศ. 2334 ว่า “เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ หากเราต้องสูญเสียหัวเมือง เหล่านี้ให้แก่อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทอง นอกเหนือไปจากเครื่องราชบรรณาการนี้แล้ว ก็ไม่มีการสูญเสียทางด้านวัตถุอื่นใดอีก อย่างไรก็ตาม การสูญเสียดินแดนเหล่านี้ไปย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิของประเทศ นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องย้ำความเป็นเจ้าของดินแดนในส่วนนี้”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “ความจริง” ของการรวมศูนย์อำนาจเพื่อระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัฐสยาม เป็นหนึ่งในชนวนแห่งความอัปยศต่อรัฐปาตานีสร้างความอัปยศต่อชาวมลายู-มุสลิม ส่งผลถึงการเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรงในจังหวัดสามชายแดนใต้ในปัจจุบันนี้ ในระบบการศึกษาไทย กบฏทั้งสามดินแดนจะไม่มีอยู่ในหนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย เพื่อลบเลือนประวัติศาสตร์แห่งความเป็นจริงของผู้ที่ปกป้องแผ่นดินของตนก่อนที่รัฐสยามจะเปลี่ยนไปใช้คำว่าประเทศไทยเสียอีก

อ้างอิง
เตช บุนนาค. “พระยาแขกหัวเมืองคบคิดขบถ ร.ศ. ๑๒๑,” ใน ขบถ ร.ศ. ๑๒๑.

แบ่งปันมุมมองโดย
ไฮยีนส์

 3,300 ครั้ง

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ